top of page

ทัศนธาตุ

ทัศนธาตุ  หมายถึง  ธาตุแห่งการมองเห็นหรือส่วนประกอบต่าง ๆ ที่สำคัญในงานศิลปะหรือทัศนศิลป์ได้แก่  จุด  เส้น  สี  แสงเงา  รูปร่าง  รูปทรง  พื้นผิว  เป็นต้น  เราสามารถนำส่วนประกอบแต่ละอย่างมาสร้างเป็นงานศิลปะได้หลายรูปแบบ ซึ่งจะให้ความรู้สึกในการมองเห็นที่แตกต่างกันไป  ทัศนธาตุสามารถสร้างอารมณ์ต่าง ๆ ให้กับคนดู  จึงเป็นความรู้พื้นฐานนับตั้งแต่  จุด  เส้น  รูปร่าง- รูปทรง  แสง เงา  น้ำหนักอ่อน – แก่  สี  พื้นผิว  มักมีปรากฏอยู่ในความงามอันละเอียดอ่อนของธรรมชาติ ทั้งสิ้น  ประกอบด้วย

 

1.  จุด ( point )  หมายถึงสิ่งที่ปรากฏบนพื้นระนาบที่มีขนาดเล็กที่สุด  ไม่มีความกว้าง  ความยาว  ความสูง  ความหนา  หรือความลึก  จุดเป็นทัศนธาตุที่เล็กที่สุดและมีมิติเป็นศูนย์ จุดสามารถแสดงตำแหน่งได้เมื่อมีบริเวณว่างรองรับ  จุดถือเป็นทัศนธาตุหรือพื้นฐานเบื้องต้นที่สุดในการสร้างงานทัศนศิลป์  จุดเป็นต้นกำเนิดของทัศนธาตุอื่นๆ เช่น  เส้น  รูปร่าง  รูปทรงและพื้นผิว  ค่าความอ่อนแก่  แสงเงา  เราสามารถพบเห็นจุดได้โดยทั่วไปในธรรมชาติ  เช่น  ดวงดาวบนท้องฟ้า  บนส่วนต่างๆของผิวพืชและสัตว์  บนก้อนหิน  พื้นดินฯลฯ   นอกจากจุดจะเป็นพื้นฐานขององค์ประกอบอื่นๆแล้ว จุดยังเป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้งานสร้างสรรค์ต่างๆมีความสมบูรณ์มากขึ้น การนำจุดมาจัดให้เกิดรูปแบบใหม่อาจทำได้หลายลักษณะ

2.  เส้น คือ จุดหลาย ๆ จุดต่อกันเป็นสาย เป็นแถวแนวไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเป็นทางยาวหรือจุดที่เคลื่อนที่ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งด้วยแรงผลักดัน หรือรอยขูดขีดเขียนของวัตถุเป็นรอยยาว  เส้นแต่ละชนิดให้ความรู้สึกแตกต่างกัน  เช่น   
         -  เส้นนอน = กว้างขวาง  เงียบสงบ  นิ่ง  ราบเรียบ  ผ่อนคลายสายตา
         -  เส้นตั้ง = สูงสง่า  มั่นคง  แข็งแรง  รุ่งเรือง
         -  เส้นเฉียง  = ไม่มั่นคง  เคลื่อนไหว  รวดเร็ว  แปรปรวน
         -  เส้นโค้ง  = อ่อนไหว  สุภาพอ่อนโยน  สบาย  นุ่มนวล  เย้ายวน
         -  เส้นโค้งก้นหอย  = เคลื่อนไหว  การคลี่คลาย  ขยายตัว  มึนงง
         -  เส้นซิกแซกหรือเส้นฟันปลา  = รุนแรง  กระแทกเป็นห้วงๆห้วง
            ตื่นเต้น  สับสนวุ่นวาย  และการขัดแย้ง
         -  เส้นประ  = ไม่ต่อเนื่อง  ไม่มั่นคง  ไม่แน่นอน
       เส้นกับความรู้สึกที่กล่าวมานี้เป็นเพียงแนวทางหนึ่ง ไม่ใช่ความรู้สึกตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ร่วมกับส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น เส้นโค้งคว่ำลง ถ้านำไปเขียนเป็นภาพปากในใบหน้าการ์ตูนรูปคน ก็จะให้ความรู้สึกเศร้า ผิดหวัง เสียใจ แต่ถ้าเป็นเส้นโค้งหงายขึ้น ก็จะให้ความรู้สึกอารมณ์ดี เป็นต้น

3.  รูปร่างและรูปทรง  (Shape and Form)
      3.1. รูปร่างรูปทรงธรรมชาติ (Natural)  หมายถึง  รูปร่างรูปทรงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่พบเห็นอยู่ทั่วไป เช่น คน สัตว์ พืช ก้อนหิน ก้อนเมฆ  
     

            3.2 รูปร่างรูปทรงเรขาคณิต  หมายถึง  รูปร่างรูปทรงที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมีโครงสร้างที่แน่นอน  เช่น  วงกลม  รูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือรูปหลายเหลี่ยม  เป็นต้น 

3.3. รูปร่างอิสระ หมายถึงรูปร่างที่มีลักษณะไม่แน่นอน ไม่สามารถคาดเดาได้ว่ารูปร่างจะเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนไหวไปในรูปแบบใดหรือทิศทางใด

                                                                                                       

4. น้ำหนักอ่อน-แก่ (Value)  หมายถึง  จำนวนความเข้ม  ความอ่อนของสีต่าง ๆ  และแสงเงาตามที่ประสาทตารับรู้  เมื่อเทียบกับน้ำหนักของสีขาว-ดำ  ความอ่อนแก่ของแสงเงาทำให้เกิดมิติ  เกิดระยะใกล้ไกลและสัมพันธ์กับเรื่องสีโดยตรง

5. สี ( Color ) หมายถึง สีเป็นปรากฏการณ์ของแสงที่ส่องกระทบวัตถุ สะท้อนเข้าสู่ตามนุษย์

สีแต่ละสีที่มีอยู่ในวัตถุต่าง ๆ มีผลต่อความรู้สึก นึกคิด ของมนุษย์ เช่น
สีแดง กล้าหาญ อันตราย เร้าใจ สะดุดตา
สีเหลือง สว่างที่สุด บริสุทธิ์ แจ่มใส เลื่อมใส
สีน้ำเงิน สงบ สุขุม สันติภาพ ภูมิฐาน
สีเขียว ความหวัง สดชื่น ชุ่มชื่น ร่มเย็น
สีม่วง ร่ำรวย โอ่อ่า งอกงาม
สีส้ม ร้อนแรง สนุกสนาน รื่นเริง เปรี้ยว
สีขาว สะอาด บริสุทธิ์ กระจ่างแจ้ง มั่นคง เบา
สีดำ เศร้า ความตาย หนัก

 

6. บริเวณว่าง (Space)  หมายถึง  บริเวณที่เป็นความว่างไม่ใช่ส่วนที่เป็นรูปทรงหรือเนื้อหาในการจัดองค์ประกอบใดก็ตาม  ถ้าปล่อยให้มีพื้นที่ว่างมากและให้มีรูปทรงน้อย การจัดนั้นจะให้ความรู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว

5. พื้นผิว ( texture) หมายถึง ลักษณะภายนอกของวัตถุที่เรามองเห็นและสัมผัสได้ ภาพที่มีลักษณะพื้นผิวที่แตกต่างกันจะให้ความรู้สึกสนุกสนานตื่นเต้นและมีชีวิตชีวา พื้นผิวสามารถก่อให้เกิดความรู้สึกในลักษณะต่าง ๆ กันเช่น หยาบ ละเอียด มันวาว ด้าน และขรุขระ เป็นต้น

bottom of page